Watana-design ตัวจริง ด้านเว็บไซต์สำหรับธุรกิจ – บทสัมภาษณ์ลงนิตยสาร digital age
Watana-design บริษัทรับทำและออกแบบเว็บไซต์ ด้วยประสบการณ์ในการออกแบบที่ได้ผนวกเอาความเป็นศิลปะเข้ากับเทคโนโลยี ซึ่งยังคำนึงถึงผลประโยชน์ของการใช้งาน และการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทางธุรกิจเป็นสำคัญ
เปิดประตูสู่เส้นทางนักออกแบบเว็บไซต์
วัฒนา ผดุงพัฒโนดม โปรเจ็กเมเนเจอร์และกรรมการบริษัท วัฒนาดีไซน์ สตูดิโอ จำกัด เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของ Watana-design เกิดขึ้นเมื่อประมาณปี 2005 หรือ 11 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตนเองเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ ทำหน้าที่เกี่ยวกับการออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ กราฟิก และเว็บไซต์ของบริษัทออกแบบสื่อโฆษณา จนเห็นว่าผลงานที่ตนเองทำก็อยากให้คนได้รู้จักมากขึ้นกว่าเดิม และเริ่มเห็นความสำคัญของการมีเว็บไซต์ตั้งแต่ในตอนนั้น จึงได้ผันตัวจากกราฟิกดีไซเนอร์ มาเป็นนักออกแบบเว็บไซต์ โดยในช่วงแรกก็ยังเป็นฟรีแลนซ์ทั่วไปก่อน และเมื่อมีประสบการณ์เพิ่มมากขึ้น จึงได้เปิดเป็นบริษัทรับออกแบบ จัดทำเว็บไซต์ เพื่อธุรกิจหรือองค์กรอย่างจริงจัง
โฟกัสหลักที่รูปแบบของธุรกิจนั้นๆ
วัฒนา เล่าว่า จะไม่ได้เน้นไปที่เว็บไซต์เกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซ หรือเว็บไซต์ขายของออนไลน์ แต่เน้นลูกค้าที่เป็นองค์กรหรือธุรกิจ ที่เกี่ยวกับการให้ข้อมูลหรือการให้บริการ ซึ่งจะมีความถนัดทางด้านนี้ ก่อนลงมือทำเว็บไซต์ก็จะต้องมีการศึกษารูปแบบธุรกิจของลูกค้าแต่ละราย หลักสำคัญคือ สิ่งที่ลูกค้าต้องการจะนำเสนอ ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมของผู้เข้าชมเว็บไซต์ของลูกค้า เพื่อออกแบบเว็บไซต์ให้ตอบโจทย์ทั้งผู้เป็นเจ้าของธุรกิจและผู้เข้าชม เข้าถึงได้ง่ายและเป็นที่น่าจดจำ เพราะ ไม่ใช่เพียงแค่ให้ลูกค้ามีเว็บไซต์เท่านั้น เป้าหมายของ Watana-design คือเว็บไซต์ที่ออกแบบและจัดทำให้ลูกค้า ต้องสามารถที่จะเพิ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจได้
เราจะดูก่อนว่าธุรกิจของลูกค้าทำเกี่ยวกับอะไร สิ่งที่เน้นจริงๆ คือเน้นคนที่เข้าดูเว็บไซต์ ว่าเว็บไซต์สื่อถึงอะไร ไม่ได้เน้นที่จะต้องสวยงามหรือว่ามีลูกเล่นมาก หรือการดีไซน์แปลกแหวกแนวไปจากเจ้าอื่น แต่จะเน้นในสิ่งที่คนเข้ามาแล้วเจอสิ่งที่ต้องการในเว็บไซต์ได้รู้ว่าเว็บไซต์นั้นๆ เป็นเว็บฯ ที่ให้บริการด้านโรงแรม เครื่องจักร เป็นต้น
เสริมประสิทธิภาพการใช้งานและการให้บริการ
การพัฒนาเว็บไซต์จะทำเองทั้งหมด ตั้งแต่หน้าบ้านไปจนถึงหลังบ้าน มีทีมงานทำทุกอย่าง โดยเว็บไซต์โดยทั่วไป เช่น องค์กรทั่วไปที่ไม่ค่อยได้มีการอัพเดตข้อมูลอยู่ตลอดเวลา ก็จะเป็นเว็บไซต์ธรรมดาที่ไม่มีระบบหลังบ้าน แต่ถ้าต้องการอัพเดตข้อมูลในอนาคตก็อาจจะมีการเซอร์วิสเป็นครั้งคราว และมีค่าใช้จ่ายที่ไม่แพง แต่ถ้าเป็นเว็บไซต์ที่ต้องมีการอัพเดตข้อมูลอยู่เป็นประจำ ก็จะมีการเขียนระบบหลังบ้านให้สำหรับเว็บไซต์นั้นๆ โดยเฉพาะ ซึ่งผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่อง HTML ก็สามารถที่จัดการข้อมูลเองได้
บริการการจัดทำเว็บไซต์แบ่งเป็น 2 แบบ คือ 1. Static Website, Coporate Website เว็บไซต์ HTML ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ไม่มีระบบจัดการข้อมูล ไม่สามารถอัพเดตข้อมูลสินค้าหรือข้อมูลข่าวสารได้ ใช้ระยะเวลาในการจัดทำประมาณ 1 เดือน และ 2. Website & Content Management System เว็บไซต์ที่มีระบบจัดการข้อมูล (CMS หรือเรียกว่า Backoffice) เป็นเว็บไซต์ที่มีการออกแบบระบบการจัดการอัพเดตข้อมูลสำหรับเว็บนั้นๆ โดยเฉพาะ เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน สามารถอัพเดตรายละเอียดของสินค้า บริการ และข้อมูลข่าวสารได้ (ไม่มีระบบตะกร้าสินค้า) ใช้ระยะเวลาการจัดทำประมาณ 2 เดือน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการติดต่อประสานงานรับข้อมูลการจัดทำต่างๆ
แสดงผลได้ทุกเบราว์เซอร์และรองรับกับทุกอุปกรณ์
วัฒนา อธิบายอีกว่า การออกแบบและจัดทำเว็บไซต์ยึดมาตรฐานของ W3C ซึ่งเป็นมาตรฐานของการทำเว็บไซต์ มีการตรวจสอบหน้า HTML ทุกหน้า ให้ตรงตามมาตรฐาน และสำหรับลูกค้าที่ต้องการจะเน้นในเรื่องการแสดงผลผ่านทางอุปกรณ์ที่หลากหลาย เช่น คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์พกพาขนาดหน้าจอต่างๆ เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้าและผู้บริโภคส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้ ก็มีในส่วนของบริการ Responsive Web Design ที่เป็นการออกแบบจัดทำเว็บไซต์ให้รองรับการแสดงผลในทุกแพลตฟอร์ม สามารถรองรับได้บนทุกอุปกรณ์ มีความเรียบง่าย ใช้ได้จริง เพื่อประสบการณ์ของผู้เข้าชมที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังให้บริการแบบครบวงจร ตั้งแต่การจดโดเมน เว็บโฮสติ้ง หรือแม้กระทั่งการช่วยตั้งชื่อในกรณีที่ลูกค้ายังไม่มีชื่อที่คิดไว้ในใจ หรือรูปแบบของเว็บไซต์ก็เป็นสิ่งที่เสนอให้กับลูกค้า ปัจจุบันนี้ ลูกค้าก็เริ่มเข้าใจแล้วว่า เว็บไซต์ที่ดีนั้น ไม่ใช่เว็บไซต์ที่ต้องมีลูกเล่นเยอะ แต่เป็นเว็บไซต์ที่คนเข้าชมได้ง่าย และรู้สึกชอบ
ช่วยโปรโมต SEO เพิ่มยอดและฐานลูกค้า
วัฒนา กล่าวว่า เว็บไซต์ที่เกิดขึ้นใหม่มีทุกวัน แต่ที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จก็มีจำนวนมากด้วยเช่นกัน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความคิดที่คิดเพียงแค่ว่าการมีเว็บไซต์เป็นเรื่องง่าย รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดทำเว็บไซต์นั้นๆ ก็มักที่จะไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ หรือความเอาใจใส่ในสิ่งที่ได้ทำไป เพราะเมื่อมีผู้ต้องการทำเว็บไซต์ที่คิดเพียงแค่ว่าการมีเว็บไซต์เป็นเรื่องง่ายๆ ก็จะมีบุคคลหรือองค์กรที่รับทำในแบบง่ายๆ ด้วยเช่นกัน นั่นคือเหตุผลที่ทำให้หลายๆ เว็บไซต์ไม่ประสบความสำเร็จ
สำหรับเว็บไซต์ที่จะประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจหรือสามารถส่งเสริมธุรกิจได้ จะต้องเป็นเว็บไซต์ที่มีการจัดทำอย่างถูกต้อง มีการวางโครงสร้างของเว็บไซต์ที่สามารถดึงดูดให้ผู้เข้าชมเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ง่าย การสร้างความประทับใจแก่ลูกค้า อีกทั้งยังรองรับ Search Engine Optimization (SEO) รวมถึง Social ได้ด้วย
“จุดที่สำคัญที่สุด เราเน้นในเรื่องของเว็บไซต์เหล่านั้นจะถูกสร้างขึ้นโดยมีพื้นฐานที่รองรับ SEO ใน Google เพราะเมื่อทำเว็บไซต์ให้ลูกค้าเสร็จแล้ว เว็บไซต์นั้นจะต้องสร้างผลประโยชน์ให้กับลูกค้า ต้องไต่อันดับเองได้ เราจึงให้ความสำคัญกับการวางโครงสร้าง SEO ในขั้นตอนของการทำเว็บไซต์ ซึ่งบางคนอาจจะไม่รู้ว่าต้องมีการโปรโมต เพราะเขาแค่ต้องการมีเว็บไซต์ แต่เราจะอธิบายให้เขาเข้าใจเสมอว่า SEO คืออะไร ความสำคัญที่นอกจากจะมีเว็บไซต์แล้วคืออะไร ต้องสร้างผลประโยชน์กลับมาจากการมีเว็บไซต์ได้อย่างไรบ้าง เราจะอธิบายให้เข้าใจในจุดนี้”
ปกติเว็บไซต์ทำ SEO อยู่แล้ว จะสามารถไต่อันดับขึ้นได้เอง แต่ในปัจจุบันนี้การแข่งขันมีสูง และทุกคนก็ต้องการให้เว็บไซต์ของตนเองติดอันดับได้เร็ว ต้องการให้มีลูกค้าหรือผู้เข้าชมเว็บไซต์จำนวนมากๆ ตรงนี้ก็จะมีการโปรโมตเป็น Google AdWords โดยจะช่วยหาคีย์เวิร์ดและวิเคราะห์ความสำคัญของตัวคีย์เวิร์ดต่างๆ ซึ่งจะเป็นการจ่ายเงินเพื่อซื้อพื้นที่โฆษณา แต่ตรงจุดนี้ก็อาจจะมีความซับซ้อน เพราะคีย์เวิร์ดแต่ละคีย์เวิร์ด ยิ่งมีความสำคัญมากก็ยิ่งมีราคาที่แพงมาก ซึ่งทาง Watana-design จะมีวิธีการหาคีย์เวิร์ดที่หลากหลายและมีราคาถูก เพื่อมาถัวเฉลี่ยตามความเหมาะสมกับคีย์เวิร์ดที่มีราคาแพง ทำให้โดยรวมแล้วลูกค้าจะจ่ายเงินน้อยลง
“โดยรวมตอนนี้ถือว่าธุรกิจก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ลูกค้าที่ทำเว็บไซต์กับเรามีความพึงพอใจและโทรมาปรึกษาเราอยู่เสมอ ในอนาคตอาจจะมีดีไวซ์อื่น หรือมีแพลตฟอร์มอื่นๆ เราก็จะพยายามที่จะก้าวตามให้ทัน มีเทคนิคการเขียนเว็บไซต์รูปแบบใหม่ๆ มีสิ่งที่ทันสมัยมากขึ้น มีความปลอดภัยอะไรที่มากขึ้น เราจะก็ใช้ เราจะไม่หยุดการพัฒนา”
ขอขอบคุณ : digitalagemag.com
นิตยสารดิจิทัลเอจ
ปีที่ 18 ฉบับที่ 213
กันยายน 2559